ระเบียบ / ประกาศต่างๆ


ประกาศแพทยสภา
ที่ 21/2545

เรื่อง มาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์(ฉบับที่ 2)


 

ตามที่ แพทยสภาได้ออกประกาศฉบับที่ 1/2540 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2540 กำหนดมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยี ช่วยการเจริญพันธุ์ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั้น บัดนี้ เห็นเป็นการสมควรกำหนดมาตรฐานการให้บริการในเรื่องดังกล่าว เป็นการเพิ่มเติม เพื่อคุ้มครองผู้รับบริการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21(1) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติ บางประการ เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการแพทยสภา จึงได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 10/2544 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2544 ให้ออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นข้อ 4/1 และข้อ 4/2 ของประกาศแพทยสภาฉบับที่ 1/2540 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2540 เรื่อง มาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ดังนี้
  ข้อ 4/1 การให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์จะต้องไม่เป็นการกระทำในลักษณะเป็นการทำสำเนาชีวิต (Human Cloning) เพื่อการเจริญพันธุ์
  ข้อ 4/2 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบตามข้อ 3 หรือเป็นผู้ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ จะต้องรักษามาตรฐานการให้บริการในส่วนที่เกี่ยวกับการบริจาคเซลล์สืบพันธุ์จากหญิงหรือชาย หรือตัวอ่อน ที่ใช้ในกระบวนการช่วย การเจริญพันธุ์ดังนี้
(1) กรณีที่คู่สมรสต้องการมีบุตรโดยให้ภรรยาเป็นผู้ตั้งครรภ์ ผู้ประกอบ วิชาชีพเวชกรรมอาจให้บริการโดย
     (ก) ใช้เซลล์สืบพันธุ์จากผู้บริจาคเพื่อการปฏิสนธิไม่ว่าจะทำให้เกิด ขึ้นภายในหรือภายนอกร่างกาย
     (ข) รับบริจาคตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์
(2) กรณีที่คู่สมรสต้องการมีบุตรโดยให้หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาตั้งครรภ์แทน ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะให้บริการได้เฉพาะ กรณี ใช้ตัวอ่อนที่มาจากเซลล์สืบพันธุ์ของคู่สมรสเท่านั้น
(3) การให้บริการตาม (1) หรือ (2) ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้
     (ก) ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริจาคเซลล์สืบพันธุ์ในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่า เป็นการซื้อขาย
     (ข) ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่หญิงที่ตั้งครรภ์แทนในลักษณะที่ อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการรับจ้างตั้งครรภ์
     (ค) หญิงที่ตั้งครรภ์แทน จะต้องเป็นญาติโดยสายเลือดของคู่สมรส ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
     (ง) การตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อนก่อนย้ายเข้าสู่ โพรงมดลูก (Pre-implantation Genetic Diagnosis) ให้กระทำได้เฉพาะการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคตามความ จำเป็นและสมควร ทั้งนี้จะต้องไม่เป็นการกระทำในลักษณะที่อาจทำให้ เข้าใจได้ว่าเป็นการเลือกเพศ โดยจะ ต้องมีหนังสือแสดงความยินยอมตามแบบแนบท้ายประกาศนี้
(4) การให้บริการนอกเหนือไปจากมาตรฐานที่กำหนดไว้ใน (1) (2) และ (3) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ หรือ เป็นผู้ให้บริการ ต้องได้รับความเห็นชอบจากราชวิทยาลัย สูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ก่อนการให้บริการทุกครั้ง


ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2545

(นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา)
นายกแพทยสภา

หมายเหตุ : ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศทั่วไปเล่ม 119 ตอนที่ 68 ง วันที่ 22 สิงหาคม 2545


ใบรับรองแพทย์ (ตรวจสุขภาพ)


ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง  


FOLLOW US

Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต